ผ่าฟันคุด (Tooth Impacdtion Removal)

 

ผ่าฟันคุด (Tooth Impaction Removal) คือการผ่าตัดทางทันตกรรมเพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก ซึ่งฟันนั้นฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร โดยการผ่าตัดจะเกิดขึ้นเมื่อฟันที่ฝังตัวอยู่ส่งผลกระทบกับฟันซี่อื่น ทำให้เกิดอาการปวด หรือเกิดอาการอักเสบติดเชื้อ

ฟันคุด คือฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ และมักฝังตัวอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกบริเวณกรามซี่ที่สามซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ด้านในสุด โดยฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก จะต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้ โดยปกติแล้วฟันคุดที่เกิดขึ้นอาจโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือกเมื่อโตขึ้นได้ แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดแรงดันหรือปวดตุบ ๆ ที่บริเวณฟันคุดจนอาจทำให้ต้องผ่าตัดเพื่อนำออก

 

 

ทำไมต้องผ่าฟันคุด ?

การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดเพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก ซึ่งปกติแล้วหากฟันที่ฝังตัวอยู่นั้นไม่ก่ออาการรุนแรงจนเกินไป ทันตแพทย์จะทำรักษาด้วยการตกแต่งเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือแนะนำในเรื่องการรักษาความสะอาดช่องปากแก่ผู้ป่วยแทน ตัวอย่างเช่น หากมีการอักเสบเล็ก ๆ ที่เหงือกบริเวณด้านหลังของฟันที่จะทำให้เกิดอาการเจ็บขณะกัดฟัน ทันตแพทย์อาจทำการรักษาเนื้อเยื่อบริเวณที่อักเสบ หรือแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนวิธีแปรงฟัน และให้ผู้ป่วยใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดที่ซอกฟันด้านหน้าและด้านหลังของฟันคุด ซึ่งจะช่วยให้เหงือกมีสุขภาพที่ดีขึ้นและหลีกเลี่ยงการเกิดโรคเหงือกอักเสบหรือการติดเชื้อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดได้

ทว่าหากฟันคุดนั้นก่อให้เกิดปัญหา หรือการเอกซเรย์แสดงให้เห็นว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ๆ อย่างชัดเจน หรือหากมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากฟันคุดก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก โดยสาเหตุที่อาจทำให้ทันตแพทย์ตัดสินใจผ่าฟันคุดออกมีดังนี้

  • สร้างความเสียหายให้กับฟันซี่อื่น ๆ ฟันคุดที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อฟันโดยรอบได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก หรือปัญหาในการกัดได้
  • ความเสียหายที่ขากรรไกร ฟันคุดอาจก่อให้เกิดถุงน้ำรอบ ๆ แล้วอาจทำให้บริเวณขากรรไกรนั้นถูกทำลายจนเป็นหลุมและทำลายเส้นประสาทที่บริเวณขากรรไกรได้
  • เกิดปัญหาที่ไซนัส ฟันคุดสามารถก่อให้เกิดอาการปวด แรงดัน หรืออาการบวมที่ไซนัส
  • เหงือกอักเสบ เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดเกิดการอักเสบ จะทำให้เกิดอาการบวมและยากต่อการทำความสะอาด
  • ฟันผุ อาการเหงือกบวมจากฟันคุดจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน และทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญเติบโต และก่อให้เกิดฟันผุตามมา
  • การจัดฟัน ฟันคุดสามารถส่งผลต่อการจัดฟัน จนทำให้ผลลัพธ์จากการจัดฟัน ครอบฟัน หรือการใช้ฟันปลอมไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

การตัดสินใจของทันตแพทย์ว่าจะทำการผ่าตัดหรือไม่ จะต้องตรวจดูรูปร่างของช่องปาก และตำแหน่งของฟันคุดก่อน รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงอายุด้วย แต่การผ่าฟันคุดอาจไม่เกิดขึ้นในทันทีที่พบฟันคุดเพราะในบางครั้งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของฟันคุด เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจอีกขั้นหนึ่ง แต่ถ้าหากในระหว่างการติดตามอาการผู้ป่วยมีอาการปวด อาการเหงือกบวมที่ผิดปกติ หรือมีกลิ่นเหม็นออกมาจากบริเวณหลังซอกฟัน ก็อาจต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนอีกครั้ง

ข้อห้ามในการผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุดถือเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยร้ายแรง เช่น ภาวะกระดูกตายจากการฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอาการป่วยเหล่านี้จะทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้ยาก หรืออาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 หรือ 3 อาจจะหลีกเลี่ยงการผ่าฟันคุดไปก่อนจนกว่าจะคลอดบุตร แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนทำการผ่าตัด อีกทั้งผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบโลหิต เช่น โรคโฮโมฟีเลีย ซึ่งเป็นความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด ไม่ควรทำการผ่าตัดจนกว่าจะได้รับการรักษา ส่วนผู้ป่วยที่ใช้การรักษาด้วยสเตียรอยด์ หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องใช้การรักษาด้วยเคมีบำบัด หากต้องทำการผ่าตัดก็จะต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อที่บริเวณฟันคุดต้องทำการรักษาอาการอักเสบและติดเชื้อบริเวณแผลเสียก่อน

วิธีการผ่าตัด

การผ่าฟันคุดจำเป็นจะต้องใช้ยาชาหรือยาสลบเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งในการผ่าตัดทางช่องปากมียาชาหรือยาสลบที่แพทย์มักใช้อยู่ 3 ชนิด ได้แก่

  • ยาชาเฉพาะที่ ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปยังจุดใกล้เคียงบริเวณที่ผ่าตัด โดยอาจฉีดเพียง 1 เข็ม หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ซึ่งก่อนฉีดนั้นแพทย์ก็จะทำให้บริเวณเหงือกที่จะทำการฉีดยานั้นเกิดความรู้สึกชา โดยการใช้ยาชาเฉพาะจุดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด แต่จะไม่รู้สึกเจ็บบริเวณที่ผ่าตัด จะมีก็แต่เพียงความรู้สึกถึงแรงดันหรือการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์ภายในช่องปาก
  • ยาชาชนิดกล่อมประสาท ยาชาชนิดนี้ทันตแพทย์แพทย์จะให้ผ่านการฉีดเข้าทางสายน้ำเกลือที่บริเวณแขน ยาชาชนิดกล่อมประสาทจะทำให้สติสัมปะชัญญะลดลงในขณะผ่าตัด จนทำให้ไม่รู้สึกเจ็บและมีความทรงจำเกี่ยวกับการผ่าตัดที่จำกัด โดยการใช้ยาชาชนิดนี้ อาจใช้ร่วมกับการใช้ยาชาเฉพาะที่
  • ยาสลบ ในบางกรณีที่จำเป็น แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาสลบในการผ่าตัดด้วยวิธีการดมยาสลบ หรือการฉีดเข้าที่สายน้ำเกลือบริเวณแขน บางครั้งอาจใช้ทั้ง 2 วิธี ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหมดสติ จากนั้นทีมผ่าตัดจะเริ่มทำการผ่าตัดพร้อม ๆ กับการเฝ้าระวังผลการใช้ยาสลบ การหายใจ ชีพจร ของเหลว และความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บและไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการผ่าตัด ทั้งนี้การใช้ยาสลบจะมีการใช้ยาชาเฉพาะจุดร่วมด้วยเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัด

 

 

เมื่อยาชาหรือยาสลบออกฤทธิ์จนทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกบริเวณที่จะทำการผ่าตัดแล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มลงมือทำการผ่าตัดด้วยการใช้มีดกรีดที่เนื้อเยื่อเหงือกเพื่อเปิดให้เห็นกระดูกและฟันคุด จากนั้นจะค่อย ๆ ตัดกระดูกที่ขวางรากฟันคุดออก และแบ่งฟันคุดออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำออกมา ก่อนจะค่อย ๆ นำเศษฟันออกจากบริเวณแผล ล้างทำความสะอาดบริเวณแผล และนำเศษฟันหรือกระดูกที่ตกค้างอยู่ออกจนหมด แล้วจึงเย็บปิดแผล แต่ในบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องทำการเย็บปิดปากแผล จากนั้นในขั้นตอนสุดท้าย ทันตแพทย์จะนำผ้าก๊อซมาปิดบริเวณปากแผลเพื่อควบคุมให้เลือดหยุดไหล

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดที่สามารถทำได้โดยมักไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล โดยหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ ทั้งนี้ก่อนการผ่าตัดทางโรงพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมจะนัดวันพร้อมกับการแนะนำถึงการปฏิบัติตนก่อนเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยควรถามคำถามเหล่านี้กับผู้นัดหมายการผ่าตัดเพื่อแนวทางในการเตรียมตัวที่ถูกต้อง

  • ต้องให้ผู้อื่นมารับหลังจากการผ่าตัดหรือไม่ ?
  • ควรไปถึงคลินิกทันตกรรมหรือโรงพยาบาลเมื่อใด ?
  • จำเป็นต้องงดน้ำหรืองดอาหารก่อนการผ่าตัดหรือไม่ หากต้องงดควรงดเมื่อใด ?
  • ในกรณีที่มีการใช้ยาตามแพทย์สั่งอยู่ก่อนแล้ว สามารถรับประทานยาก่อนผ่าตัดได้ไหม  หากได้จะต้องรับประทานก่อนการผ่าตัดนานเท่าใด ?
  • ก่อนผ่าตัดควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาตามใบสั่งแพทย์หรือไม่ ?

การดูแลรักษาหลังการผ่าตัด

การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำการผ่าตัดเสร็จ ทั้งนี้หากในการผ่าฟันคุดมีแผลที่ต้องเย็บ ทันตแพทย์จะใช้ไหมละลายในการเย็บบริเวณแผล ไหมชนิดนี้จะละลายไปตามธรรมชาติพร้อม ๆ กับการสมานตัวของปากแผลภายในเวลาประมาณ 3-5 วัน

หลังจากการผ่าตัดแพทย์อาจใส่ผ้าก๊อซไว้ที่บริเวณปากแผลและให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้เลือดหยุดและเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นภายใน ซึ่งจะช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรนำออกหากเลือดยังไม่หยุดไหล

ทั้งนี้แผลผ่าฟันคุดจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเป็นปกติ โดยในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรก ๆ หลังจากผ่าตัด จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้
  • อาการเจ็บบริเวณขากรรไกร อาการจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 7-10 วัน แต่เหงือกบริเวณขากรรไกรจะยังคงมีรอยช้ำต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์
  • อาการปวด หากการผ่าฟันคุดมีความซับซ้อนก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดค่อนข้างมาก
  • รู้สึกถึงรสชาติไม่พึงประสงค์ภายในช่องปาก อาทิ รสชาติคาวเลือดที่ออกจากแผลซึ่งยังคงตกค้างอยู่
  • อาการเจ็บแปลบ ๆ หรือชาที่ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้น้อย โดยอาจเกิดขึ้นจากยาชาที่ตกค้าง หรือเกิดจากการถูกกระทบกระเทือนที่บริเวณปลายประสาท

ในระหว่างการพักฟื้นและรักษาตัว ช่วงวันแรก ๆ หลังจากการผ่าฟันคุดจะไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ แต่ก็ไม่ควรอดอาหาร และควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน เพราะจะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น โดยใน 1-2 วันแรกควรรับประทานอาหารนิ่ม ๆ หรือ อาหารเหลว และควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดน้ำและการรับประทานอาหารร้อนหรือรสจัดจะดีที่สุด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานแล้วอาจตกค้างอยู่ในซอกฟันที่ผ่าตัดก็ควรหลีกเลี่ยง และเมื่อแผลเริ่มสมานตัวแล้วจึงเริ่มสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้แต่ก็ควรเคี้ยวช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือน ซึ่งการกลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ จะเร็วหรือช้าก็จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเองว่ารู้สึกดีขึ้นแล้วหรือยัง

หากในระยะการพักฟื้นหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น

  • มีไข้
  • กลืนไม่ได้
  • หายใจลำบาก
  • มีเลือดออกมากผิดปกติ
  • มีหนองออกมาบริเวณเบ้าฟัน
  • เกิดอาการชา หรือกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรง

ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้ โดยอาการแทรกซ้อนที่มักจะพบหลังจากการผ่าฟันคุดคือ

  • กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Alveolar Osteitis) - เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดหลังจากการผ่าฟันคุด ซึ่งจะเกิดจากการที่ลิ่มเลือดไม่แข็งตัวภายในกระดูกเบ้าฟัน หรือลิ่มเลือดภายในกระดูกเบ้าฟันหลุดไป จนทำให้กระดูกเบ้าฟันว่างและแห้ง และเป็นสาเหตุของอาการปวดหรืออาการปวดตุบ ๆ ที่บริเวณเหงือกหรือขากรรไกรอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังอาจมีกลิ่นและรสไม่พึงประสงค์ออกมาจากบริเวณกระดูกเบ้าฟัน อาการนี้จะกินเวลา 3-5 วันหลังจากผ่าตัด ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ และมีปัจจัยเหล่านี้ เช่น สูบบุหรี่ อายุมากกว่า 25 ปี มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากอื่น ๆ และมีการผ่าฟันคุดที่ค่อนข้างซับซ้อนก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่ออาการอักเสบมากขึ้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการกระดูกเบ้าฟันอักเสบควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาดบริเวณกระดูกเบ้าฟันและปิดด้วยผ้าปิดแผลที่สามารถเปลี่ยนใหม่ได้จนกว่าแผลจะหาย
  • อาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทใบหน้า - เป็นอาการที่อาจพบได้หลังจากการผ่าตัด แต่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก โดยอาการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บแปลบและชาบริเวณลิ้น ริมฝีปากล่าง คาง ฟัน และเหงือกได้ อาการบาดเจ็บดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเพียงไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน แต่ถ้าหากนานกว่านั้น นั่นแปลว่าเส้นประสาทดังกล่าวเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ เช่น รับประทานอาหารหรือน้ำได้ลำบาก ดังนั้นผู้ป่วยควรรับทราบความเสี่ยงเรื่องภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวก่อนทำการผ่าตัด

นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้เพิ่มเติม เช่น

  • ขากรรไกรแข็งหรือมีอาการอ้าปากได้ลำบาก
  • อาการช้ำที่เหงือกหายช้า
  • ฟันซี่อื่นได้รับการกระทบกระเทือน
  • ขากรรไกรหักเนื่องจากฟันคุดติดแน่นกับบริเวณกรามมากเกินไป แต่พบได้น้อย
  • โพรงไซนัสถูกเปิดออกเนื่องจากฟันคุดซี่ด้านบนถูกถอนออกและทะลุถึงโพรงไซนัส แต่พบได้น้อย

อีกทั้งการผ่าตัดอาจทำให้เกิดเลือดออกในปริมาณมาก และหากเลือดไม่หยุดไหลภายใน 24 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอันตรายได้