ทันตกรรมโรคเหงือก (Periodontics)

โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ทุกวันจนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด โรคนี้ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรครำมะนาด มีความรุนแรงมากกว่าโรคเหงือกอักเสบ

อาการของโรคปริทันต์อักเสบมีอาการอย่างไรบ้าง

โรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคเรื้อรังที่มีการทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกเบ้าฟันอย่างต่อเนื่องโดยเราไม่รู้ตัว อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกได้คือเหงือกบวม มีเลือดออกภายหลังการแปรงฟัน เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยวอาหารในบางครั้ง ฟันโยก มีเหงือกบวมเป็นหนองในกรณีที่เป็นโรครุนแรงมาก ๆ มีกลิ่นปาก ฟันยื่นยาวหรือแยกกันเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้จนต้องมาให้ทันตแพทย์ถอนออก

สาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบคืออะไร

สาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้คือ คราบจุลินทรีย์ที่มากับอาหารที่เราทานและน้ำลาย เชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างสารพิษมาย่อยเหงือกและกระดูกเบ้าฟันของเรา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุรองที่ทำให้โรคลุกลามมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ เป็นต้น

 

ปัญหาเหงือกมีอยู่ 3 ระยะด้วยกันคือ ปัญหาเหงือกอักเสบ ปัญหาปริทันต์อักเสบ และปัญหาปริทันต์อักเสบขั้นรุนแรง แม้ว่าทันตแพทย์จะสามารถวินิจฉัยปัญหาของคุณได้ แต่คุณก็ควรทราบอาการของปัญหาในแต่ละระยะด้วยเพื่อสังเกตตัวเองและคนในครอบครัวก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย

ปัญหาเหงือกอักเสบ
เป็นปัญหาที่เกิดในระยะแรกและพบได้มากที่สุด แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาการของปัญหาเหงือกอักเสบมีดังนี้

- เหงือกบวมแดง
- เลือดออกตามไรฟันได้ง่ายขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
- ขอบเหงือกร่น
- มีกลิ่นปาก

 


ปัญหาปริทันต์อักเสบ
ปัญหาเหงือกในระยะนี้เป็นระยะที่ปัญหาเหงือกอักเสบมีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น เราเรียกระยะนี้ว่า "ปัญหาปริทันต์" ปัญหานี้จะทำลายเนื้อเยื่ออ่อนและทำให้สูญเสียกระดูกที่ช่วยพยุงฟัน อาการของปัญหาปริทันต์มีดังนี้

- เหงือกบวม มีสีแดงจัด
- เหงือกนุ่มเมื่อสัมผัส
- มีพื้นที่ระหว่างฟันเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดร่องลึกปริทันต์
- เกิดหนองบริเวณระหว่างฟันและเหงือก
- มีกลิ่นปากหรือรู้สึกรสชาติในปากผิดปกติ
- สูญเสียฟันที่มีรอยกัดไม่พอดีกัน

 


ปัญหาปริทันต์ขั้นรุนแรง
ระยะสุดท้ายของปัญหาเหงือกคือ ระยะนี้จะมีการสูญเสียกระดูกและเนื้อเยื่อปริทันต์ที่รองรับฟันของคุณ เมื่อเกิดอาการดังกล่าวนขึ้นจะทำให้ฟันของคุณโยกและหลุดไปในที่สุด เมื่อถึงระยะนี้ทันตแพทย์อาจต้องใช้วิธีการถอนฟันของคุณทิ้งเพื่อไม่ให้ฟันซี่อื่น ๆ ติดเชื้อเพิ่มเติม อาการของปัญหาปริทันต์ขั้นรุนแรงคือ

- มีกลิ่นปากเรื้อรัง
- เหงือกบวมและมีเลือดออก
- เหงือกร่นขั้นรุนแรง
- ร่องลึกปริทันต์ลึกมากขึ้น
- ฟันโยกและแนวสบฟันเปลี่ยนไป

 


ปัญหาปริทันต์เป็นปัญหาที่เรื้อรังและเป็นนาน มีผลกระทบต่อรอยยิ้มที่สวยงามของคุณไปจนถึงต้องเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมภายในช่องปากหากไม่รักษาแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นคุณควรหมั่นสังเกตอาการที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อป้องกันปัญหาปัญหาเหงือกของคุณ แปรงฟันและขัดฟันด้วยไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและทำความสะอาดฟัน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการทำความสะอาดฟันที่เหมาะสมกับช่องปากของคุณ ให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มเพื่อช่วยถนอมเหงือก รวมถึงใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อช่วยฆ่าเชื้อ การขูดหินปูนเป็นระยะตามที่ทันตแพทย์แนะนำก็สามารถช่วยป้องกันปัญหาเหงือกได้

 

การรักษาและการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ มีวิธีอย่างไร

การรักษาโรคปริทันต์อักเสบคือการกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้รวมทั้งกำจัดแหล่งอาศัยของเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันทั้งที่อยู่เหนือเหงือกและใต้ขอบเหงือก เพื่อให้ร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไป แต่เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้กลับมาสะสมใหม่ทุกวันเมื่อเราทานอาหาร ดังนั้นการป้องกันโรคคือการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ

โรคปริทันต์อักเสบ สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า โรคนี้มีการทำลายทั้งเนื้อเยื่อและกระดูก ร่างกายไม่สามารถสร้างกลับมาเหมือนเดิมได้ รวมทั้งสาเหตุของโรคกลับมาใหม่ทุกวัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นแล้วเป็นตลอดชีวิตไม่มีวันหายขาด การขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันไม่ใช่วิธีการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำความสะอาดฟันโดยทันตแพทย์ การรักษาและป้องกันโรคที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้โรคกลับมาเป็นใหม่ได้เร็วคือการดูแลทำความสะอาดฟันให้ดีอย่างเคร่งครัดทุกวันเพื่อคงสภาพของเหงือกและกระดูกที่เหลืออยู่ให้มีสุขภาพที่ดีตลอดไป การแปรงฟันให้สะอาดในวันพรุ่งนี้ไม่สามารถมาทดแทนการถูกทำลายในวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหันมาดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้และควรพบทันตแพทย์ทุก ๖ เดือนเพื่อรับคำแนะนำและการดูแลอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาจจะสายเกินแก้และมาเสียใจในภายหลัง