ทันตกรรมการรักษาทั่วไป(General practitioner)

ทันตกรรมแบบทั่วไป จะหมายถึง การตรวจสภาพช่องปากและฟันการทำความสะอาดและการรักษาสภาพเหงือกและฟัน เพื่อให้มีสุขอนามัยที่ดีและสามารถมีอายุการใช้งานได้นานๆ ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. การตรวจวินิจฉัยโรคทางทันตกรรม
  2. การขูดหินปูนและขัดฟัน
  3. การอุดฟันและถอนฟัน

 

การตรวจวินิจฉัยโรคทางทันตกรรม

                 การตรวจวินิจฉัยเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ทันตแพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงสุด    การตรวจวินิจฉัยนี้สามารถทำได้จากการซักประวัติคนไข้ตรวจในช่องปากด้วยตาเปล่า ในบางกรณีอาจมีความจำเป็นในการถ่ายภาพเอกซเรย์และพิมพ์ปากเพื่อวางแผนการรักษา

การขูดหินปูนและขัดฟัน
                 การขูดหินปูน คือ การกำจัดหินปูนทำได้โดยการขูดเอาก้อนหินปูนทั้งชนิดใต้เหงือกและเหนือเหงือกออกจนหมด การขูดหินปูนใช้เครื่องมือ 2 ชนิด ชนิดแรกใช้แรงมือขูด ชนิดที่สองเป็นเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้า ใช้การสั่นของเครื่องมืออัลตร้าโซนิคในการกะเทาะเอาหินปูนให้หลุดออกจากผิวฟัน การใช้เครื่องมือไฟฟ้าช่วยให้การขูดหินปูนทำได้รวดเร็วกว่าเดิม ทั้งยังให้ความสะดวกในการทำงานอีกด้วย

การขัดฟัน เป็นการขัดคราบหลังจากการขูดหินปูนออกแล้ว เพื่อกำจัดคราบสีจากอาหารที่ติดอยู่บนผิวของเนื่อฟันอีกที  ฟลูออไรด์ เป็นสารช่วยป้องกัน และลดการผุของฟัน ช่วยให้โครงสร้างของเคลือบฟันแข็งแรง ต้านทานต่อฟันผุได้ดีขึ้น

สาเหตุการเกิดหินปูน
หินปูนเกิดขึ้นมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งซ่อนตัวอยู่ตามซอกฟันน้ำตาลจากเศษอาหารที่ติดฟัน  จะทำให้เชื้อนี้เจริญเติบโต  พร้อมกับผลิตกรดบางอย่างขึ้นมา  ซึ่งสามารถทำลายแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของผิวเคลือบฟันได้  จากนั้นแบคทีเรียดังกล่าว  ก็จะสร้างหินปูนขึ้นมาปกคลุมตัวเองอีกชั้นหนึ่ง โดยไม่หลุดลอกหรือถูกชะล้างไปไหน  หากปล่อยไว้นานวันหินปูนเหล่านี้ก็จะยิ่งพอกพูนหนาขึ้น  ขณะที่ผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันค่อย  ๆ ผุกร่อนลง

 

วัยที่ควรเริ่มขูดหินปูน
สามารถขูดหินปูนได้ทุกวัย แม้กระทั่งในวัยเด็กที่มีฟันน้ำนมขึ้นแล้วไปจนกระทั่งผู้สูงอายุในระยะแรก ๆ หลังการขูดหินปูน ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาด ตามที่ทันตแพทย์แนะนำ จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้ดี ไม่มีเหงือกอักเสบ หรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูนภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้งจะดูความร่วมมือของผู้ป่วย และอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาดฟันและเหงือกด้วย

ขั้นตอนการขูดหินปูน
การขูดหินปูนเป็นวิธีรักษาทางทันตกรรมที่สามารถทำได้ในคลินิก และสามารถกลับบ้านได้ทันทีเมื่อทำการขูดหินปูนเสร็จ

ขั้นตอนที่ 1 – ตรวจสุขภาพฟัน
โดยส่วนใหญ่แล้วการขูดหินปูนจะเริ่มจากการตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพฟันโดยรวมตรวจดูเหงือกอักเสบ หรือปัญหาสุขภาพฟันอื่น ๆ
ขั้นตอนที่ 2 – ขูดหินปูน
ทันตแพทย์จะเริ่มใช้เครื่องมือในการขูดหินปูนและคราบแบคทีเรียออกจากบริเวณใกล้ ๆ กับเหงือก และระหว่างเหงือกกับฟัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงขูด ทั้งนี้จะใช้เวลานานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณหินปูนและบริเวณที่เกิดหินปูน การมีเลือดออกระหว่างขูดหินปูนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเหงือกที่อักเสบจากหินปูนจะมีเลือดออกได้ง่ายจากการสัมผัสเพียงเล็กน้อย
ขั้นตอนที่ 3 – ขัดทำความสะอาดฟันหรือขัดฟัน
หลังจากขูดหินปูนออกหมดแล้ว ทันตแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เตรียมไว้สำหรับการขัดฟัน ซึ่งจะใช้เพื่อทำความสะอาดและกำจัดคราบหินปูนที่ตกค้างหลังจากการขูดออกไป ทั้งนี้การขัดทำความสะอาดฟันจะใช้ผงขัดฟันที่ใช้สำหรับการขัดฟันโดยเฉพาะ
ขั้นตอนที่ 4 – การใช้ไหมขัดฟันโดยทันตแพทย์
เมื่อขัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยตรวจสอบว่ามีบริเวณร่องฟันหรือส่วนใดของเหงือกที่มีปัญหา ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจทำให้เลือดออกจากเหงือกได้หากเหงือกบริเวณดังกล่าวอ่อนแอ
ขั้นตอนที่ 5 – บ้วนปาก
เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการใช้ไหมขัดฟันแล้ว ทันตแพทย์จะให้บ้วนปากครั้งหนึ่งก่อนเพื่อล้างเศษที่ยังตกค้างจากการขูดหินปูน เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 – เคลือบฟลูออไรด์
การเคลือบฟลูออไรด์เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการขูดหินปูน โดยการเคลือบฟลูออไรด์นั้นจะช่วยป้องกันฟันจากฟันผุได้ชั่วคราว โดยแพทย์จะใส่สารสำหรับเคลือบฟันลงในถาดเคลือบฟลูออไรด์ที่มีลักษณะคล้ายถาดพิมพ์ฟัน แล้วให้ผู้ป่วยกัดไว้ประมาณ 1 นาทีแล้วนำออก ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

การป้องกันคราบหินปูน
เราสามารถป้องกันหินปูนได้โดยการกำจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากโดยการ

  1. แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ให้บ้วนน้ำแรง ๆ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร
  2. ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  3. หลีกเลี่ยงอาหารหวาน ๆ โดยเฉพาะระหว่างมื้อ
  4. แปรงลิ้นทุกครั้งหลังแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย
  5. พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟัน เพื่อทำความสะอาดฟันบริเวณที่เหลือจากการทำความสะอาด และรับการรักษาระยะเริ่มแรก ก่อนที่ท่านจะต้องสูญเสียฟันของท่าน เนื่องจากโรคฟันผุและปริทันต์

ประโยชน์ของการขูดหินปูน ขัดฟันและเคลือบฟลูออไรด์

  1. การขูดหินปูนถือเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโรคเหงือก ซึ่งหลังจากการขูดหินปูนแล้ว ผู้เข้ารับการขูดหินปูนควรรักษาความสะอาดของช่องปาก และทำตามแนะนำของทันตแพทย์
  2. การขูดหินปูนเพื่อรักษานั้น หากมีคราบแบคทีเรียเริ่มเกาะตัวกันจนกลายเป็นคราบแข็งก็ควรทำการขูดหินปูนเพื่อป้องกัน เนื่องจากหากปล่อยไว้ก็จะทำให้กลายเป็นโรคเหงือก และเป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันได้
  3. การเคลือบฟลูออไรด์ มีผลดี คือ ฟลูออไรด์ทำให้ผิวเคลือบฟันมีความแข็งแรง ทนต่อการกัดกร่อนของกรดที่แบคทีเรียในช่องปากสร้างขึ้นมาได้ดีขึ้น
  4. ช่วยลดปัญหากลิ่นปากและเหงือกบวมอักเสบให้บรรเทาและหายได้
  5. เมื่อหมั่นตรวจเช็คสุขภาพช่องปากและพบทันตแพทย์ประจำทุก 3-6 เดือนช่วยลดโอกาสการเป็นโรคเหงือกอักเสบหรือปริทันต์ได้ ถ้าได้รับการรักษาได้ทันเวลา

 

การอุดฟัน
              การอุดฟันคือวิธีการรักษาฟันที่ถูกทำลายจากการผุให้สามารถใช้งานได้และกลับมารูปทรงเดิม เวลาทำการอุดฟัน ทันตแพทย์จะเอาเนื้อฟันที่ผุออกและทำความสะอาด จากนั้นจึงเติมวัสดุอุดฟันลงไป

การอุดฟันสามารถช่วยป้องกันการผุเพิ่มขึ้นด้วยการปิดช่องทางที่แบคทีเรียสามารถเข้าไปได้ วัสดุที่ใช้ในการอุดฟันได้แก่ ทอง พอร์เซเลน คอมโพสิตเรซิน (การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน) และอมัลกัม (วัสดุอุดฟันทำจากโลหะปรอท เงิน ทองแดง และสังกะสี)

การอุดฟันชนิดใดดีที่สุด
ไม่มีการอุดฟันชนิดใดที่เหมาะกับทุกคน สิ่งที่เหมาะกับคุณขึ้นอยู่กับขอบเขตของการผุ การแพ้วัสดุยางชนิดของแต่ละคน บริเวณที่ต้องการการอุดฟัน และราคา ซึ่งวัสดุในการอุดฟันมีหลายประเภทคือ

  • การอุดฟันด้วยทอง ซึ่งจะทำขึ้นในห้องปฏิบัติการ โดยอินเลย์ทองจะไม่ค่อยระคายเคืองเหงือก และอาจอยู่ได้นานถึง 20 ปีและด้วยเหตุนี้เอง หลายๆ คนจึงเลือกทองให้เป็นวัสดุอุดฟันที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การอุดฟันชนิดนี้มีราคาแพงที่สุด และต้องใช้เวลาพบทันตแพทย์หลายครั้ง
  • การอุดฟันด้วยอมัลกัม (เงิน) เป็นการอุดฟันที่ค่อนข้างคนทนและราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัสดุนี้มีสีเข้ม จึงมองเห็นได้เด่นชัดกว่าพอซเลนหรือคอมโพสิต และไม่ถูกเลือกใช้กับบริเวณที่เห็นได้ง่าย เช่นฟันหน้า
  • การอุดฟันคอมโพสิต (พลาสติก) เรซิน เป็นวัสดุที่ใช้สีที่เหมือนกับฟันของคุณ จึงมักถูกเลือกใช้สำหรับบริเวณที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ ส่วนผสมจะมีการเตรียมและใส่ลงในจุดที่ผุโดยตรง ซึ่งวัสดุคอมโพสิตนี้อาจจะไม่สามารถใช้อุดฟันในบริเวณกว้างได้ เนื่องจากมีการหักอละเสื่อมได้เมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ยังเป็นคราบจากชา กาแฟ หรือยาสูบได้ และไม่คงทนเท่ากับวัสดอื่นๆ โดยสามารถอยู่ได้ประมาณ 10 ปี
  • การอุดฟันเวยด้วยพอซเลน หรือเรียกว่า อินเลย์ หรือ ออนเลย์ ทำขึ้นภายในห้องปฏิบัติการและนำมาเชื่อมต่อกับฟัน สามารถทำสีให้เข้ากับสีฟันของคุณได้ และมีความทนทานต่อคราบ การอุดฟันด้วยพอซเลนมักจะครอบคลุมเนื้อที่ฟันส่วนใหญ่ ราคาประมาณเดียวกับการอุดฟันด้วยทอง

 

ถ้าฟันผุหรือฟันแตกหักได้ทำลายพื้นที่ส่วนใหญ่ของฟัน การครอบฟันอาจมีความจำเป็น การผุที่ไปถึงเส้นประสาทสามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ การรักษารากฟัน (กำจัดเส้นประสาทที่ถูกทำลาย) หรือ การปิดเนื้อเยื่อโพรงฟัน (รักษาเส้นประสาทที่ยังดีอยู่)

กระบวนการการอุดฟันเป็นอย่างไร 
ถ้าคุณต้องรับการอุดฟัน ทันตแพทย์จะทำการกำจัดส่วนที่ผุออกก่อน จากนั้นจึงทำความสะอาด และเติมวัสดุอุดฟันตามที่อธิบายข้างต้นลงไป

เราจะทราบได้อย่างไรว่าต้องการการอุดฟัน 
มีเพียงทันตแพทย์เท่านั้นที่จะบอกได้ว่าคุณต้องการการอุดฟัน ในระหว่างการตรวจ ทันตแพทย์จะใช้กระจกเล็กเพื่อตรวจสอบพื้นผิวของฟันแต่ละซี่

อะไรก็ตามที่ดูผิดปกติจะถูกทำการตรวจอย่างละเอียดด้วยเครื่องมือพิเศษ ทันตแพทย์อาจทำการเอ็กซเรย์ทั้งช่องปากหรือเพียงบางส่วน การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายจากฟันผุ

การถอนฟัน

              การถอนฟัน เป็นการนำเอาฟันออกมาจากเบ้ากระดูกขากรรไกร ซึ่งสาเหตุที่จะต้องถอนนั้น มีหลายสาเหตุ คือ

  • เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายขึ้นกับฟันมากเกินกว่าที่ทันตแพทย์จะซ่อมแซมแก้ไขได้
  • ฟันผุรุนแรง จนเกิดความเสียหายขึ้นกับโพรงประสาทฟัน
  • เป็นโรคเหงือกอย่างรุนแรง
  • มีปัญหาฟันคุด
  • และเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดฟัน

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีก เช่น การถอนฟันน้ำนมของเด็ก ที่ไม่ยอมหลุดออก เพื่อให้ฟันแท้ได้ขึ้นมา การถอนเนื่องจากมีอาการติดเชื้อ หรือถอนเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาโรคร้ายแรงบางอย่าง

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าจะต้องถอนฟัน ทันตแพทย์ จะซักประวัติการดูแลรักษาสุขภาพของคนไข้อย่างละเอียด ทั้งประวัติด้านการรักษาฟัน โรคประจำตัว และประวัติการใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังต้อง X-ray ฟัน เพื่อดูภาพรวม และหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ในการถอนฟันดังนี้

  • ดูความเกี่ยวข้องของฟันซี่ที่จะถอนกับฟันซี่อื่น ๆ
  • ดูฟันบน และความเกี่ยวข้องกับไซนัส หรือโพรงอากาศข้างจมูก
  • ดูฟันล่าง เพื่อดูความเกี่ยวข้องของเส้นประสาทกับกระดูกขากรรไกร ที่ทำให้รับรู้ความรู้สึกบริเวณขากรรไกรล่าง ฟันล่าง ปากล่าง และคาง
  • ตรวจดูโอกาสที่อาจจะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาเช่น การติดเชื้อ เนื้องอก และโรคเกี่ยวกับกระดูก

ในบางกรณีทันตแพททย์ จะสั่งยาแอนตี้ไบโอติก ให้คนไข้รับประทานทั้งก่อนและหลังการถอนฟัน ซึ่งยาดังกล่าวนี้ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนฟันได้ นอกจากนี้ ทันตแพทย์ จะแนะนำข้อควรปฏิบัติก่อนการถอนฟัน ดังต่อไปนี้

  • งดน้ำและอาการก่อนการถอนฟันประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  • หากมีอาการไอ หรือหายใจไม่สะดวก หรือเป็นหวัด ควรรอให้หายจากอาการก่อน ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการถอนฟัน
  • หากมีอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในคืนก่อนหน้าที่จะเข้ารับการรักษาให้แจ้งทันตแพทย์ทันทีในตอนเช้า เพราะอาจจะต้องเลื่อน หรือเปลี่ยนแผนการรักษา
  • ไม่ควรสูบบุหรี่ ในวันที่เข้ารับการรักษา เพราะอาจจะทำให้มีอาการปวดแผลที่เกิดจากการถอนฟันมากขึ้น เนื่องจากกระดูกเบ้าฟันอักเสบ
  • หลังการถอนฟัน ไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง และควรมีคนช่วยดูแล เพราะจะต้องมีข้อปฏิบัติหลังการถอนฟันอีกมากมาย

วิธีการถอนฟัน มี 2 วิธี คือ การถอนแบบธรรมดาทั่ว ๆ ไป และการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • การถอนฟันแบบธรรมดา การถอนฟันแบบนี้ ไม่มีความยุ่งยากหรือซับซ้อนใด ๆ เป็นวิธีการง่าย ๆ ซึ่งทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือ เข้าไปโยกให้ฟันหลวม เรียกว่า Elevator จากนั้นก็จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Forceps ดึงเอาฟันออกมา
  • การผ่าตัดเพื่อนำฟันออก จะเป็นขั้นตอนที่มีความซับซ้อน จะใช้กับคนไข้ ที่มาด้วยสาเหตุฟันแตกหัก ลงไปจนถึงเหงือก หรือฟันไม่ได้โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา ส่วนมากแล้ว การผ่าตัดนี้ ต้องทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดฟันโดยเฉพาะ แต่ทันตแพทย์ทั่ว ๆ ไป ก็อาจทำได้เช่นกัน หากมีความชำนาญ ในการผ่าตัดนั้น ทันตแพทย์ จะใช้มีดกรีดลงไปที่เหงือก แล้วนำฟันออกมา

ทั้งนี้ ก่อนการถอนฟัน ทันตแพทย์จะให้ยาชา และบางรายอาจจะต้องให้ยาบางอย่างเพื่อให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ระหว่างการถอนฟัน คนไข้ จะต้องไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งหากมีความเจ็บปวดในระหว่างนั้น จะต้องรีบบอกให้ทันตแพทย์ทราบทันที และหลังจากการถอนฟัน ก็จะได้รับยาแก้ปวด พร้อมทั้งคำแนะนำในการดูแลบาดแผล ดังนี้

  • รักษาความสะอาดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ให้กัดผ้าก็อช ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว เพื่อห้ามเลือดไว้ประมาณ 30-45 นาที
  • ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน ไม่ควรแปรงฟันในบริเวณที่อยู่ใกล้จุดที่ถอน รวมทั้งยังไม่ควรบ้วนปาก และสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์
  • อาจใช้ Ice pack ประคบ เพื่อลดอาการปวดและบวม รวมทั้งรับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์สั่ง
  • เมื่อพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้ว ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ และรสไม่จัด สัก 2-3 วัน
  • หมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากผ่านไป 2-3 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์แล้วความเจ็บปวดไม่ทุเลาลง หรือมีอาหารบวม และมีความผิดปกติอื่น ๆ ให้รีบติดต่อเพื่อพบทันตแพทย์ทันที

               อย่างไรก็ตาม เมื่อถอนฟันออกไปแล้ว คนไข้ จะต้องรับทราบข้อมูลอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อสูญเสียฟันซี่ใดซี่หนึ่งไป ฟันที่อยู่ข้างเคียงก็จะค่อย ๆ เคลื่อน หรือล้มเอียงไปในช่องที่ว่างอยู่ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นกัน ก็จะมีผลกระทบต่อไปในเรื่องของการเรียงตัวของฟัน ความสามารถในการบดเคี้ยว และการสบฟัน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของช่องปากต่อไปอีก ดังนั้น หลังการถอนฟัน ทันตแพทย์จึงแนะนำให้คนไข้ป้องกันการล้มเอียงของฟันซี่ที่อยู่ข้างเคียง ด้วยวีธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น ใส่ฟันปลอม ทำสะพานฟัน หรือปลูกถ่ายรากเทียม ต่อไป